ปัจจุบันเรามักพบเจอปัญหาการถูกหลอกจาก “มิจฉาชีพ” กันบ่อยครั้ง มีวิธีการหลากหลายรูปแบบที่ทำให้ผู้คนหลงเชื่อ โดยข้อมูลจาก “ตำรวจสอบสวนกลาง” บอกไว้ว่า จากสถิติในปี 2564 มีผู้เสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เข้าแจ้งความกว่า 1,600 ราย รวมมูลค่าความเสียหายสูงกว่า 1,000 ล้านบาท
ดังนั้นเราจึงต้องทำความเข้าใจว่าปัจจุบันมิจฉาชีพใช้วิธีการใดบ้าง และหากเราเจอมิจฉาชีพกับตัวเอง เราควรปฎิบัติตนอย่างไร มาดูเลยค่ะว่ามิจฉาชีพมาในรูปแบบบ้าง
มิจฉาชีพทาง “ออนไลน์”
1. ใช้สลิปปลอม โพสต์ตามสินค้า
เป็นอีกภัยใกล้ตัวของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เมื่อต้องเจอมิจฉาชีพสวมรอยเป็นลูกค้า โดยอ้างว่า ไม่ได้รับสินค้า แล้วโพสต์สลิปปลอมเพื่อตามสินค้า กรณีนี้มักเกิดกับธุรกิจออนไลน์ที่มีออร์เดอร์จำนวนมาก จึงคิดว่ามีบางออร์เดอร์ตกหล่น จึงได้ส่งสินค้าไปให้กับลูกค้าตัวปลอม
2. แอปฯ เงินกู้ออนไลน์
เงินกู้ออนไลน์ กลายเป็นทางเลือกสำหรับเจ้าของธุรกิจจำนวนไม่น้อย ทำให้มิจฉาชีพใช้โอกาสตรงนี้หลอกล่อผู้คน โดยคำเชิญชวนประเภท “กู้เงินด่วน อนุมัติไวใน 15 นาที” จากนั้นจะหลอกให้ผู้กู้จ่ายค่าธรรมเนียม หรือดอกเบี้ยงวดแรก หรือเงินมัดจำสำหรับการกู้ยืม หากหลงเชื่อโอนเงินให้ มิจฉาชีพก็จะหายตัวไปทันที
3. ลิงก์ปลอม (Phishing) ขโมยข้อมูลส่วนตัว
ลิงก์ที่ส่งมาให้ ไม่ว่าจะเป็นทาง SMS หรืออีเมล รวมถึงโซเชียลมีเดียต่างๆ อาจเป็นหนึ่งในรูปแบบการโจรกรรมข้อมูลออนไลน์ที่เรียกว่า Phishing หรือการล้วงข้อมูลสำคัญของผู้ใช้งาน หากใครหลงเชื่อคลิกเข้าไปแล้วกรอกข้อมูลสำคัญ คุณอาจจะกลายเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพทันที
- กรณีกู้เงินออนไลน์ สามารถเช็กรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อ ได้จากเว็บไซต์ ธปท.
- กรณีลิงก์ปลอม (Phishing) อย่ากรอกข้อมูลส่วนตัวเด็ดขาด โดยเฉพาะเลขประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด เลขหน้า/หลังบัตรเครดิต รหัสผ่าน รวมถึงรหัส OTP 6 หลัก
มิจฉาชีพสวมรอยเป็น “คู่ค้า”
1. บริษัททิพย์ ไม่มีอยู่จริง
ในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะทำการค้ากันโดยไม่เคยเจอหน้า มิจฉาชีพจึงอาศัยช่องว่างนี้ ด้วยการเปิดเว็บไซต์ขึ้นมา โดยที่ไม่มีบริษัทจริงและอาจจะทำการปลอมใบสำคัญการจดทะเบียนนิติบุคคล เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นมากขึ้น จากนั้นก็จะทำหลอกขายสินค้าให้กับคู่ค้าที่หลงเชื่อ
2. เจาะข้อมูลคู่ค้า สวมรอยรับเงิน
บางครั้งมิจฉาชีพอาจจะมาในรูปแบบของแฮกเกอร์ คุณอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่า คู่ค้าที่ติดต่ออยู่นั้นใช่ตัวจริงหรือไม่ เพราะคุณอาจจะถูกเจาะข้อมูลแล้วทำการเปลี่ยนแปลงชื่ออีเมลให้แตกต่างไปจากเดิมเล็กน้อย จนแทบสังเกตไม่เห็น หรืออาจมีการเปลี่ยนเลขที่บัญชีธนาคารและข้อมูลอื่นๆ ทำให้เงินที่โอนไป ไม่ถึงคู่ค้าตัวจริง
3. ของถูก ล่อใจให้รีบโอน
ของถูก ของลดราคา ใครๆ ก็อยากได้ มิจฉาชีพจึงใช้ตรงจุดนี้เป็นตัวหลอกล่อ โดยจะโน้มน้าวให้คุณต้องรีบตัดสินใจซื้อ โดยใช้เวลาเป็นตัวกระตุ้น เช่น โอนเงินมัดจำภายในเวลานี้ จะได้ส่วนลดเท่านี้ เมื่อหลงเชื่อโอนมัดจำก้อนแรกไปให้ คนร้ายก็จะหายตัวไปในทันที
มิจฉาชีพมักจะมาในคราบของ “เจ้าหน้าที่”
1. เจ้าหน้าที่สรรพากร
ทำการค้าย่อมมาพร้อมกับภาษี มิจฉาชีพจึงแฝงตัวมาในคราบเจ้าหน้าที่สรรพากร เพื่อเรียกเก็บเงินภาษีจากร้านค้า โดยการโทรศัพท์มาแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ พร้อมกับแจ้งว่าสามารถผ่อนจ่ายภาษีได้ แล้วจัดการช่วยทำรายการให้ทุกอย่าง แต่ท้ายที่สุดเงินไม่ได้ถูกนำเข้าในระบบของกรมสรรพากร
2. เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ถูกมิจฉาชีพนำไปแอบอ้าง โดยจะโทรศัพท์หาผู้เสียหายและบอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สังกัด ส่วนคดีฟอกเงินทางอาญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ จากนั้นจะแจ้งเลขประจำตัวประชาชน ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ของผู้เสียหาย พร้อมกับบอกว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีการฟอกเงิน จึงขอให้มาให้ปากคำและยืนยันตัวตนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ มิฉะนั้นจะมีความผิด และถ้าไม่อยากถูกดำเนินคดีให้โอนเงินไปให้นั่นเอง
3. พนักงานจากบริษัทขนส่ง
ช่วงนี้หากใครได้รับโทรศัพท์จากขนส่งชื่อดัง พร้อมแจ้งว่ามีพัสดุจากต่างประเทศติดศุลกากร ต้องโอนเงินเพื่อเคลียร์ของ หรือกล่าวหาว่าส่งของผิดกฎหมาย ต้องให้โอนเงินเพื่อเคลียร์คดี ฯลฯ คุณอาจจะกำลังตกเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพ
4. เจ้าหน้าที่ธนาคาร
อีกหนึ่งกลโกงสุดฮิตของมิจฉาชีพ คือการแอบอ้างว่าติดต่อมาจากธนาคาร พร้อมกับแจ้งว่า บัญชีของคุณนั้นมีความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ หรือเข้าข่ายเกี่ยวกับการฟอกเงิน เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวในการตรวจสอบบัญชี ซึ่งหากคุณหลงกลให้ข้อมูล อาจทำให้ต้องสูญเสียเงินในบัญชีได้อย่างง่ายๆ
3 วิธี ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
1. มีสติ ไม่ตื่นตระหนกกับคำขู่ต่าง ๆ ของมิจฉาชีพ
2. คิดก่อนคลิก อย่าคลิกหรือกรอกข้อมูลส่วนตัวในลิงก์ที่ไม่รู้ที่มาที่ไป
3. อย่าโอนไว เช็กให้ชัวร์ก่อน ติดต่อหน่วยงาน หรือธนาคาร อย่ารีบร้อนโอนเงิน
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่ามิจฉาชีพอาจมาในรูปแบบของ “พนักงานจากบริษัทขนส่ง” ซึ่งมีวิธีการหลากหลายรูปแบบ และเรามักพบเป็นระยะ ๆ ดังนั้นทุกท่านควรติดตามข่าวสารจากขนส่งโดยตรง เนื่องจากช่วงที่มิจฉาชีพระบาด ทางขนส่งจะประกาศแจ้งถึงวิธีการของมิจฉาชีพและวิธีการรับมือเบื้องต้น
หากคุณส่งของผ่าน SHIPPOP คุณจะสามารถตรวจสถานะของพัสดุได้ พร้อมทั้งหากคุณมีปัญหาคุณสามารถติดต่อสอบถามได้ทันที เรามีทีมงานคอยดูแลพัสดุให้คุณทุกชิ้น
อ้างอิง : https://bit.ly/3N6MIxk