ปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มหันมาสนใจและเริ่มตระหนักเกี่ยวกับ “สิ่งแวดล้อม” กันมากยิ่งขึ้น รวมถึงทัศนคติการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันของผู้บริโภคที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้โลกสวยด้วยไลฟ์สไตล์รักษ์โลกของตนเอง สังเกตได้จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ยกตัวอย่างเช่น การพกแก้วน้ำส่วนตัว หรือแม้แต่ในห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ต ก็มีมาตรการลดการใช้ถุงพลาสติก ส่งผลให้ลูกค้าเริ่มนำถุงเก่ามาใช้ซ้ำ หรือหันมาใช้ถุงผ้ากันมากขึ้น แน่นอนว่าแบรนด์เองก็ต้องให้ความสำคัญกับคำว่า “Green Marketing”
Green Marketing คืออะไร?
Green Marketing หรือเป็นที่รู้จักในไทยว่า “การตลาดสีเขียว” ก็คือ กลยุทธ์ที่ธุรกิจต่าง ๆ มุ่งเน้นเรื่องของความยั่งยืน (Sustainability) และส่งเสริมการผลิตสินค้าที่คำนึงถึงประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
การตลาดสีเขียว ก็คือการแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าธุรกิจมีวิสัยทัศน์อย่างไรในการผลิตสินค้า ‘สายกรีน’ หรืออาจเป็นการสื่อสารกับผู้บริโภคว่าแบรนด์สนับสนุนความคิดริเริ่มที่รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอย่างไรบ้าง จุดมุ่งหมายสำคัญของการตลาดสีเขียว คือ ความพยายามและการสร้างสรรค์ทั้งในส่วนของขั้นตอนการผลิตและการบริโภคให้ผู้คนหันมามีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
แม้ว่าผู้บริโภคจะหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าไหร่นัก แต่เราก็สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคให้หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดที่เรียกว่า “ENVI Strategy” (เอ็นไว)
ทำความรู้จักกลยุทธ์ “เอ็นไว” (ENVI Strategy)
1. E: Early ปลูกฝังจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่
– สำหรับผู้บริโภคกลุ่มในกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ที่ยังไม่ค่อยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ภาครัฐ และองค์กรธุรกิจจึงควรให้ความสำคัญกับการปลูกฝังเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ผู้บริโภคในกลุ่มนี้
2. N: Now or Never ปัญหาสิ่งแวดล้อมควรแก้ไขทันที
– เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติผู้บริโภคที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมน้อย นักการตลาดจึงควรให้ความสำคัญกับการสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ
3. V: Viral สื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างทั่วถึง
– นักการตลาดควรใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างทั่วถึง และแพร่หลาย (viral)
4. I: Innovative ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและดีไซน์
– การดึงนวัตกรรมมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อาทิ การใช้วัตถุดิบสำหรับอิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณสมบัติอนุรักษ์มากขึ้น การใช้ระบบดิจิทัลในการผลิต เป็นต้น
หากสินค้าของคุณไม่ได้ผลิตเป็นจากวัตถุดิบจากธรรมชาติโดยตรง แต่ก็ยังสามารถออกแคมเปญหรือทำกิจกรรมที่ช่วยสนับสนุนเรื่องสิ่งแวดล้อมได้นะคะ ยกตัวอย่างเช่น การจัดโปรโมชันของร้านกาแฟ หากลูกค้านำแก้วมาเองก็จะได้รับส่วนลด เป็นการส่งเสริมให้ลูกค้าลดการใช้พลาสติก
อ้างอิง: techsauce, contentshifu