เปิด 5 พิกัดทำบุญเข้าพรรษาออนไลน์ ไม่เสี่ยงโควิด อิ่มบุญได้แม้ตัวอยู่บ้าน

การให้ความช่วยเหลือหรือร่วมทำบุญบริจาคให้กับผู้ยากไร้ ผู้ที่ขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ ก็นับว่าเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ เพราะทุกการบริจาคของเราสามารถช่วยรักษา ต่อชีวิต ต่อลมหายใจให้แก่พวกเขาได้

SHIPPOP จึงขอเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงบอกต่อสถานที่ “เปิดรับบริจาค” ซึ่งเราสามารถร่วมบริจาคได้ผ่านช่องทางออนไลน์ มีหลายโครงการให้เราสมทบทุน ใครอยากสมทบทุนโครงการไหนก็สามารถร่วมบริจาคตามช่องทางที่เราแนบไว้ให้ได้เลยนะคะ

1. มูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ

มูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ มีจุดเริ่มต้นจากครอบครัวคุณพิมพ์กุล โอฬารศิรโรจน์ (เรณู จุลสุคนธ์) ที่ได้ช่วยเหลือสัตว์ต่างๆ ที่พิการจนหายจากการเจ็บป่วย จึงเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนแก้เหงา แต่เมื่อเพิ่มจำนวนมากขึ้น สถานที่คับแคบ และเป็นภาระที่ต้องเลี้ยงดู ประกอบกับสัตว์ส่งเสียงดัง ส่งกลิ่นรบกวนเพื่อนบ้าน จึงต้องย้ายสถานที่เลี้ยงออกไปนอกเมือง โดยตั้งชื่อว่า “บ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ” ในปี พ.ศ. 2524

ต่อมาในปี 2532 คุณชวนชื่น โกมารกุล ณ นคร (ยั่งยืน) ได้ทราบข่าวและมาเยี่ยม แสดงประสงค์ให้ความช่วยเหลือ จึงจัดซื้อที่ดินบริจาค 200 ตารางวา ณ ที่ทำการมูลนิธิฯ ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พร้อมสร้างโรงเรือนถาวรให้ในปี พ.ศ. 2533 ในปี 2536 หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ได้เมตตามาเยี่ยมโปรดสัตว์พิการ ได้เห็นถึงสภาพปัญหา และภาระของการเลี้ยงดูสัตว์เหล่านี้ จึงจัดสร้างอาคาร และซื้อที่ดินติดกันให้อีก 1 ไร่ และอนุญาตให้ตั้งเป็น “มูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ (ในความอุปถัมภ์ของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)” มาจนทุกวันนี้

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและร่วมบริจาคได้ที่ : https://home4animals.org

2. มูลนิธิรามาธิบดี

จากปัญหาการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยขาดแคลนทุนทรัพย์เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างเนื่อง ทำให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาลไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยให้เข้าถึงการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ขณะเดียวกัน มีผู้ประสงค์ขอบริจาคเงิน เพื่อช่วยเหลือในโครงการต่างๆ เป็นจำนวนมาก

ศาสตราจารย์นายแพทย์อารี วัลยะเสวี คณบดีท่านแรกของ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมคณะกรรมการบริหารคณะแพทยศาสตร์ เล็งเห็นความสำคัญและโอกาสเยียวยารักษาอาการเจ็บป่วย จึงได้ลงความเห็นจัดตั้งมูลนิธิเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของคณะแพทยศาสตร์เป็นโรงพยาบาลรัฐแห่งแรกของประเทศไทยภายใต้ชื่อ “มูลนิธิรามาธิบดี” เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2512

โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางระดมทุนจากผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์ และนำไปจัดสรร เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทางด้านการแพทย์ช่วยต่อลมหายใจผู้ป่วยให้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาอย่างเต็มประสิทธิภาพทุกระดับชั้น 

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและร่วมบริจาคได้ที่ : https://www.ramafoundation.or.th/donation

3. มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์

มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นมูลนิธิฯ ที่ให้ความช่วยเหลือคนพิการแห่งแรกในประเทศไทย โดยมุ่งช่วยเหลือผู้พิการทางการเห็นด้วยการพัฒนาความรู้ความสามารถและประสบการณ์ ที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตประจำวันโดยมิได้หวังผลตอบแทน จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2482 มีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ ดังนี้

1. เพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางการเห็นทั้งชายหญิง โดยไม่จำกัดเชื้อชาติและศาสนา

2. เพื่อให้การศึกษาสายสามัญและการฝึกอบรมด้านอาชีพ เพื่อช่วยให้ผู้พิการทางการเห็นสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข

3. เพื่อร่วมมือกับหน่วยงานราชการและองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้พิการทางการเห็น

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและร่วมบริจาคได้ที่ : https://www.blind.or.th/donate/donate

4. มูลนิธิกระจกเงา

มูลนิธิกระจกเงา คือ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมหลายด้าน ได้แก่ งานด้านสิทธิมนุษยชน งานด้านสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ งานพัฒนาอาสาสมัครและการแบ่งปันทรัพยากร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้และการใช้ชีวิตโดยมีพื้นที่ปฏิบัติงานทั้งบนสังคมออนไลน์ (internet) สังคมเมืองและสังคมชนบท โดยทำหน้าที่เป็นกระจกเงาที่สะท้อนเรื่องราวความเป็นจริงของสังคมและให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม ด้วยวิธีคิด คือ การสร้างคนและสร้างนวัตกรรม สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่สังคม

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและร่วมบริจาคได้ที่ : http://web.mirror.or.th

5. มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย

มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2528 โดยเริ่มจากความรัก ความสงสารและความอยากที่จะช่วยเหลือสัตว์ป่า ซึ่งในยุคนั้นสัตว์ป่าได้ถูกล่าและนำมาขายอย่างเกลื่อนกลาดตามตลาดมืดทั่วประเทศ เป็นยุคทองของการล่าสัตว์ป่าในไทย  จึงได้มีความคิดจัดตั้งและแปลงสนามหลังบ้านเล็ก ๆ ให้เป็น “ศูนย์พิทักษ์สัตว์ป่า”

เวลาผ่านไปผู้คนเริ่มนำสัตว์ป่าที่ไม่ต้องการแล้วมามอบให้แบบปากต่อปาก ส่งผลให้จำนวนสัตว์มีปริมาณมากขึ้น พื้นที่ในการวางกรงเลี้ยงดูสัตว์ป่าหลังบ้านเริ่มไม่เพียงพอ ประกอบกับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นอย่างทวีคูณ จึงได้ปรึกษาและรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน จนได้ตัดสินใจจัดตั้ง “มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย”

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและร่วมบริจาคได้ที่ :  https://bit.ly/3OZxsUR